
สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
พัฒนาการการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์/สิทธิมนุษยชนในสังคมนั้นมีมายาวนาน สถานการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ถือว่าเป็นมิติการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่ในยุคเริ่มเปิดประเทศภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง,เหตุการณ์ร.ศ.103 ที่ชนชั้นสูงบางกลุ่มเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ร.ศ. 130ที่คณะทหารหนุ่มก่อการกบฏเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การปฎิวัติ 2475 ที่ปรากฏพร้อมหลัก 6 ประการของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกล่าวถึงหลักสิทธิเสมอภาคและความเป็นอิสรเสรีภาพ,การต่อสู้ในยุคเผด็จการทหารนับหลังจากรัฐประหาร 2490 จนถึงยุคของระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ นับตั้งแต่ปี 2501 เรื่อยมา (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:519) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ไทยจะให้การรับรองปฎิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2491 แต่แนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบอุดมการณ์เสรีนิยมตะวันตกก็เติบโตอย่างเชื่องช้าในสังคมไทย ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่ล้าหลังเป็นเผด็จการ แม้จะมีการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเข้มข้น เช่นในช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519ซึ่งต่อมาเรื่องของมนุษยชนเป็นปรากฏการณ์ความสนใจและมีการถกเถียงกันอย่างมาก จนกระทั่งมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อศึกษากฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.ที่แย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่ก็ล้มเหลวเพราะความไม่ต่อเนื่องของอายุของสภาผู้แทนราษฎร และความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการทำงาน รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและแม้ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงครั้งสำคัญของไทย ซึ่งชัยชนะของประชาชนมีผลผลักดันสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชนที่จริงจังในสังคม ไทย และการสร้างกลไกต่างๆเพื่อป้องกันอำนาจเผด็จการทางทหาร และรัฐบาลของนายอานันท์ ปัณยารชุนได้บริหารประเทศได้นำประเทศเข้าสู่สมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง จนถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบปี 2540 ที่ดูจะเป็นความหวังของผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ไร้อำนาจที่ถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐที่มีบทบาทในระดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งยังมีอาชีพอื่นอีกที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นต้น แต่ดูเหมือนรากเหง้าและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม ระบบทุนนิยม หรือวิถีพัฒนาที่มิได้เอาความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่ ตั้ง วัฒนธรรมความเชื่อที่ล้าหลังจนก่อมายาคติผิดๆที่ไม่ศรัทธาคุณค่าความเป็น มนุษย์และความเท่าเทียม เป็นผลให้เกิดความรุนแรงและสนับสนุนการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนจนฝังรากลึกมา ถึงปัจจุบัน (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:522-526)
สังคมไทยปัจจุบันเน้นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบตลาดได้ครอบงำเศรษฐกิจโลก และภายใต้ระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจในระบบตลาด ภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวไปสู่ความทันสมัย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน เห็นได้จากการจัดการทรัพยากรในภาคอีสาน เช่น การประกาศเขตวนอุทยานกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน การให้สัมปทานป่าแก่กลุ่มอิทธิพลภายนอกชุมชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์และการพัฒนาอุตสาหกรรม (เสน่ห์ จามริก, 2546:35-40)
ตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ กรณีเขื่อนปากมูล ที่หลังจากการสร้างเขื่อนได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศที่ลุ่มน้ำมูลก็ถูกเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตในการทำมาหากิน ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพไปใช้แรงงานที่อื่น จำนวนป่าลดน้อยลง ชาวบ้านจับปลาไม่ได้พอเพียงแก่การเลี้ยงชีพ ทั้งที่เมื่อก่อนระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ ปลามีมากชาวบ้านจึงจับปลาขายและเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2546:154-164)
นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีก เช่น การฆ่าตัดตอนปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปัญหาการค้าประเวณี การก่อการร้าย และความยากจนเป็นต้นยังเป็นปัญหาของสังคมไทยจนปัจจุบัน
สิทธิ เป็นเสมือนทั้งเกราะในการคุ้มกันประชาชนให้พ้นจากภัยคุกคามของกำลังอิทธิพลและอำนาจที่ไม่ยุติธรรม และเป็นเสมือนกุญแจให้ประชาชนสามารถใช้ไขไปสู่ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ โดยในที่นี้จะเน้นเฉพาะสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองไว้ ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมถึงผลประโยชน์จากโอกาสและทางเลือกอันพึงมี พึงกระทำ และพึงได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ถูกโต้แย้งและขัดขวางโดยกฎหมาย องค์กรรัฐเจ้าหน้าที่รัฐ และคนอื่น ทั้งนี้โดยที่ประชาชนมีอิสระตามเสรีภาพในการใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงอิสระของตนเองหรือตามความสามารถในการตกลงใจของตนเองได้ด้วย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับกะเกณฑ์โดยอิทธิพลอย่างอื่น ทั้งนี้สามารถจำแนกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ออกได้เป็น 3 ส่วนดังนี้ คือ สาระสำคัญของสิทธิ พันธะของรัฐที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์
เป็นสิทธิ เสรีภาพ เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ความคิด จิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งถือเป็นสิทธิจะอยู่ จะเป็น หรือเป็นสิทธิที่ติดมากับตัวของประชาชนทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นคน และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนด้วยการกระทำที่เป็นการล่วงล้ำเกิน คุกคาม หรือละเมิดได้ เช่น การไม่ถูกลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การมีเสรีภาพในเคหสถานส่วนตัว เสรีภาพการเดินทาง การนับถือศาสนา การสื่อสาร คมนาคม การแสดงความคิดเห็น การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และการเลือกถิ่นที่อยู่ เป็นต้น (ตามมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 28) ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะอยู่ จะเป็น หรือ เป็นสิทธิที่ติดมากับตัวประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่เป็นส่วนควบติดอยู่กับความเป็นคนตามธรรมชาติ โดยที่ทุกคนมีอยู่เหมือนกัน รัฐไม่อาจเข้าไปแทรกแซงให้เกิดความแตกต่าง หรือ สูญสิ้นสิทธิอันเป็นเสมือนองค์ประกอบของชีวิต จิตใจ และร่างกายนั้นได้ ดังนั้น สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิของคนที่ห้ามไม่ให้รัฐกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ
2) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นพลเมือง
เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการที่สามารถเรียกร้องความต้องการขั้นพื้นฐานจากรัฐในฐานะ ที่เป็นราษฎรของรัฐได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้การสนองตอบในรูปของบริการสาธารณะ ถือเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ จะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองหรือเป็น ราษฎรของรัฐ โดยที่รัฐไม่อาจจะปฎิเสธความรับผิดชอบหรือความช่วยเหลือด้วยการเพิกเฉยไม่ กระทำการตอบสนองตามความเรียกร้องต้องการของประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้ความ คุ้มครองได้ เช่น
- สิทธิในการรับการศึกษา (ตามมาตรา 43)
- สิทธิของผู้บริโภค
- เสรีภาพในการชุมนุม
- เสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะ
- สิทธิการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐ
- เสรีภาพการจัดตั้งพรรคการเมือง
- สิทธิการรับบริการสาธารณสุข
- สิทธิการฟ้องหน่วยราชการ
- สิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐ
- สิทธิคัดค้านการเลือกตั้ง
- สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น
- สิทธิการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในการใช้สิทธิเสนอกฎหมายนั้นมีขอบเขตจำกัดเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพตามหมวด 3 และเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามหมวด 5 เท่านั้น เป็นต้น
ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ หรือจะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองของรัฐ เพราะเป็นสิทธิที่ขึ้นอยู่กับความเป็นพลเมืองของรัฐ โดยที่การได้รับความยุติธรรมจากการใช้สิทธิสำคัญกว่าการได้รับประโยชน์จากสิทธิที่เท่ากัน เช่น พลเมืองที่เด็กได้รับสิทธิการศึกษาภาคบังคับฟรี แต่พลเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่พลเมืองที่ด้อยโอกาสจะได้รับสิทธิการสงเคราะห์จากรัฐ ทั้งที่คนปกติทั่วไปไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
ดังนั้นสิทธิเสรีภาพในความเป็นพลเมืองจึงเป็น สิทธิของพลเมืองที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์เท่ากัน แต่หากเป็นสิทธิอะไรของใครก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบในการสนอง ตอบต่อการใช้สิทธินั้น กล่าวคือ พลเมืองที่เป็นเด็กย่อมสามารถเรียกร้องการศึกษาฟรีในภาคบังคับจากรัฐได้เช่น เดียวกับผู้ใหญ่ก็ย่อมสามารถเรียกร้องการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงเป็นสิทธิที่สงวนไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องจัดหาให้ประชาชน หรือบังคับให้รัฐจะต้องกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็น ปฏิฐานกับรัฐ
3) สิทธิในความเสมอภาค
เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันจากรัฐ หรือการไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่การเลือกปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียเปรียบ ผู้ด้อยโอกาส ได้รับสิทธิโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน (มาตรา 30) โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นกลาง หรือความเป็นธรรมด้วยการละเลยเพิกเฉยไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย หรือ หยิบยื่นโอกาสอันพึงมีพึงได้ให้กับประชาชนได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะความแตกต่างตามธรรมชาติ และเพราะการกระทำหรือละเว้นการกระทำของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น
-การเสมอกันในกฎหมาย
- การไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน
- การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
- การได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ และ
- สิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่ช่วยชดเชย ความแตกต่างตามธรรมชาติของคนให้ได้รับโอกาสและศักยภาพใหม่เพิ่มขึ้น โดยที่รัฐเป็นฝ่ายช่วยเสริมสร้างหรือเกื้อหนุนให้มีความเสมอเหมือนกัน โดยที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ที่เท่ากันจากการได้รับสิทธิ นั้น เช่น คนทั่วไปย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกันในการขอแจ้งจดทะเบียน เป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหรือร่ำรวยได้เท่าเทียมกันจากการ ประกอบธุรกิจนั้น
ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่รัฐให้หลักประกันในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐไม่ต้องผูกพันว่าทุกคนจะต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้สิทธินั้นให้ได้เท่ากันเสมอไป
ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่กำหนด ให้รัฐดำรงฐานะของความเป็นคนกลางในการถือดุลย์ระหว่างความแตกต่างกันตาม ธรรมชาติของคนกับความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและการปฏิบัติของรัฐเพื่ออุดช่อง ว่างไม่ให้ความแตกต่างนั้นเป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขของความไม่ยุติธรรมขึ้นใน สังคม แต่ประโยชน์จากความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องสร้างต่อขึ้นมาให้ตัว เองในภายหลังหรือไปหาเอาได้ข้างหน้า เมื่อรัฐได้ช่วยสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้แล้ว ซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นพันธะของรัฐ
4. ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมในภูมิภาค
ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มใหญ่ ๆ ตามภาษาพูด ราว 11 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ ชาวไทยที่พูดภาษาไทยกลาง ไทยใต้ ไทยอีสาน ไทยเหนือ ไทยมุสลิม (ภาคใต้) ไทยจีน ไทยมุสลิม (กรุงเทพฯ) ไทยมาเลย์ เขมรและกุย ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ มอญ และชนอพยพอื่น ๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย พม่า เป็นต้น
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยกำหนดให้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระนครออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดมีวัฒนธรรมหลักของไทยขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยกย่องและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นกัน นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยมีความเป็นปีกแผ่นและมีวัฒนธรรมหลักที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศที่เด่นชัดทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมพม่า วัฒนธรรมลาว วัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมของชนในภูมิภาคอื่นของเอเชียและของโลกได้อย่างชัดเจน เราจึงเรียกกันว่า “วัฒนธรรมไทย” อย่างไรก็ตามเนื่องจากสังคมไทยเป็นที่รวมของชนหลายเผ่าพันธุ์และมีการยกย่องวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละท้องถิ่นอย่างจริงจังตลอดมา ทำให้
มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมในภูมิภาค มีปรากฏย่างเด่นชัด และได้รับการอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน และถ่ายทอดมาตราบเท่าทุกวันนี้
4.1 วัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมแกน หรือวัฒนธรรมหลักของประเทศ ได้หล่อหลอมให้คนไทยทุกหมู่เหล่าทุกภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียว และนำมาปฏิบัติใช้เป็นวิถีชีวิตที่คนทั้งชาติต่างภูมิใจ และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้เกิดความสมานฉันท์ของพลเมือง พื้นฐานวัฒนธรรมไทยมาจากสิ่งต่อไปนี้
1) การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เกิดขึ้นอยู่ควบคู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่เริ่มต้นเป็นชาติไทย พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าแซ่ซ้อง ให้ความเคารพนับถือ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนทั้งประเทศ ชนทุกเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้อยู่ร่วมกันสมัครสมานสามัคคีและรวมเป็นหนึ่งเดียว ก็เพรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระราชกรณียกิจและขัตติยประเพณีด้านต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างแน่นแฟ้น
2) พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติไทย โดยรัฐให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนาได้กำหนดค่านิยม ความเชื่อ แนวความคิด และบรรทัดฐานทางสังคมของชนชาติไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจะได้รับการยกย่องและปฏิบัติตาม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐได้ส่งเสริมความเข้าใจอันดีกับศาสนิกชนคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น คือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่น ๆ เช่นกัน อีกทั้งได้สนับสนุนให้นำหลักธรรมของทุกศาสนาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
3) ภาษาไทย ภาษาไทยกลางเป็นภาษาประจำชาติที่คนไทยทั่วประเทศสามารถพูดเข้าใจและเขียนอ่านได้ ภาษาไทยกลางจึงเป็นตัวเชื่อมโยงให้คนในชาติติดต่อสื่อสาร และสร้างความผูกพันต่อกัน ทำให้คนไทยสามารถทำความเข้าใจวัฒนธรรมหลักปละวัฒนธรรมของภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดี
4) อาชีพเกษตรกรรม ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดประเทศหนึ่งของภูมิภาคมาช้านานแล้ว ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทและมีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับพื้นดิน ท้องทุ่งและไร่นา ประเพณีและวัฒนธรรมส่วนใหญ่จึงมีพื้นฐานมาจากการเกษตรและการมีชีวิตอยู่ในชนบท อันเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาทุกด้านของวิถีชีวิต แม้ในปัจจุบันที่ประชากรบางส่วนจะอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง และประอบอาชีพทางด้านอุตสาหกรรมและการบริการ แต่ความผูกพันกับชนบทและอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งรวมไปถึงการประมงและการเลี้ยงสัตว์ยังฝังอยู่อย่างแน่นแฟ้น
4.2 คุณค่าของวัฒนธรรม
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ สภาพทางสังคม และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคมได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบของวัฒนธรรมประกอบด้วย 3 ระบบที่เชื่อมโยงกัน ดังนี้
1) ระบบคุณค่า หมายถึง ศีลธรรมของส่วนรวมของสังคม และจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่สร้างสรรค์ มักแสดงออกในรูปความคิดที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความอุดมสมบูรณ์ และความยั่งยืนของสังคมและธรรมชาติบนพื้นฐานของการเคารพส่วนรวม และเพื่อมนุษย์ด้วยกันเอง
2) ระบบภูมิปัญญา เป็นระบบที่ครอบคลุมวิธีคิดของสังคม เป็นการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏในรูปของกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่และการถ่ายทอดความรู้ผ่านองค์กรทางสังคมท้องถิ่นเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
3) ระบบอุดมการณ์อำนาจ หมายถึง ศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นมนุษย์ที่จะเสริมสร้างความมั่นใจ และอำนาจให้กับคนในชุมชน เพื่อเป็นพลังในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ผลิตใหม่ และถ่ายทอดให้เป็นไปตามหลักการของศีลธรรมที่เคารพความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และความยั่งยืน ของธรรมชาติ เพื่อรักษาความเป็นอิสระของสังคมตนเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการครอบงำจากภายนอกด้วยเหตุนี้ สังคมทุกสังคม จึงมีวัฒนธรรมที่คนในสังคมนั้น ๆ ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นภูมิปัญญา และเป็นระบบอุดมการณ์ของสังคม อันส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงเต็มเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรีและความเคารพในสังคมตนเอง ดังนั้น เราต้องยอมรับว่าทุกสังคมมีวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ควรแสดงการดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมของสังคมอื่น ในทางตรงกันข้ามก็ต้องไม่ดูถูกวัฒนธรรมของสังคมตนองหรือยกย่องวัฒนธรรมจากสังคมอื่นว่าดีกว่า เหนือกว่า และน่ายกย่องกว่าวัฒนธรรมของตนเอง เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการลดศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสังคมตนเอง ย่อมจะไม่เกิดความเจริญงอกงามใด ๆ แก่ตนเองและสังคมของตนเลย นอกจากนี้การเปรียบเทียบวัฒนธรรมของแต่ละสังคมว่าสูงต่ำ ดีเลวกว่ากัน เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะแต่ละวัฒนธรรมก็มีหน้าที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของแต่สังคม